Sunday, February 1, 2015

ชีวิต คือ การทำงาน ? ใช่หรือไม่?


ชีวิต คือ การทำงาน ? ใช่หรือไม่?

เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2011... จากที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน เค้ามีคอลัมภ์ แท็งก์ความคิด ที่พูดเรื่อง เกี่ยวกับงานหนังสือแห่งชาติ และ หัวข้อ "ชีวิตคือการทำงาน" รู้สึกว่า มันโดนใจมาก... และน่่าจะมีประโยชน์ต่อใครหลายๆคน ทั้งคนที่เป็นพ่อแม่ นักเรียน นักศึกษา และคนที่กำลังทำงานทั่วไป เพราะ ถ้าได้คำตอบในเรื่องนี้เร็ว ก็จะไม่มีช่วงชีวิตที่สับสน หรือถ้ามีก็มีสั้นๆ เพราะ พอเกิดคำถาม ก็มีคำตอบแบบเร็วๆ งงมั๊ย? ทำไมอยู่ๆ มาเกริ่นอะไรทำนองนี้ ไม่ไม่เป็นไร ลองอ่านดูน่ะ ถ้าคนไหน ไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็ โชดดีไป ....ก็เลยเอามาลงใน Blog อีกครั้ง เผื่อกำลังเกิดขึ้นกับบางคน....

แต่ถ้าคิดในอีกแง่ ก็คือ น่าเสียดายหากไม่เกิดช่วงเวลาแบบนี้ขึ้นในชีวิตคนๆหนึ่ง เพราะมันก็ถือเป็นรสชาดของชีวิตที่ดี รสชาดหนึ่งเหมือนกัน...


เคยมั๊ย? ที่ในชีวิตที่ผ่านมา เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร?????

เรากำลังทำงานอยู่นี้เพื่ออะไร? เรากำลังเรียนอยู่นี้ทำไม?????

เพื่อให้ได้งานดีๆเหรอ หรือเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ แล้วได้งานดีๆ แล้วได้เงินเยอะๆ แล้วเราจะเอาไปทำอะไร ซื้อของใช้ที่สนองความต้องการของตนเองและครอบครัวเหรอ หรือเราต้องมีเงินเก็บน่ะ เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอนเหรอ  หรือเอาไว้ช่วยคนอื่น ไง เวลาที่เค้าต้องการความช่วยเหลือ คนเราต้องรู้จักให้คนอื่นบ้าง...

ยังงั้นหรือเปล่า? แล้วทำไมเราต้องทำตามคนอื่นๆในสังคม ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เราทำอย่างอื่นไม่ได้เหรอ ที่เป็นอยู่นี่ งานก็ดี เงินก็ดี เรียนก็เก่ง แต่ไม่เห็นมีความสุขเลย ทำไมชีวิตมันถึงเหนื่อยได้ขนาดนี้ ทำไมเรี่ยวแรงมันหายไปไหนหมด ... มีแต่คนอยากให้ทำงานให้...ทั้งงานทั้งเงิน หลั่งไหลมา...

มันสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการอะไรกันแน่ เราเกิดมาเพื่ออะไร จริงๆแล้ว แล้วชีวิตต่อจากนี้ไป เราจะมีชีวิตต่อไปยังไง ต้องทนกับความรู้สึก หรือคำถามนี้ต่อไปจนตายเลยเหรอ มีใครจะช่วยหาคำตอบได้บ้างมั๊ย ถือว่าช่วยเอาบุญ อะไรทำนองนี้นะ เคยเกิดคำถามประมาณนี้มั๊ย?

คำตอบน่ะเหรอ อันนี้แล้วแต่คนน่ะ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่เท่าที่เราได้ลองถามผู้มีประสบการณ์ชีวิตทั้งหลาย ลองค้นหาจากการอ่านหนังสือต่างๆ  เป็นช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่พยายามหาคำตอบจากคำถามเหล่านี้ที่เกิดขึ้น...

ง่ายๆก็คือ เราใช้เวลา 1 ปี ในการค้นหาตนเอง ไปพร้อมๆกับที่ต้องทนกับความรู้สึกที่เหนื่อยกับชีวิตเหลือเกิน เหนื่อยกับงานมากจนแทบขาดใจ ซึ่งคนอื่นไม่รู้หรอกเพราะ เราใช้วิธีเปลี่ยนที่อยู่ไปๆมาๆ ไปหาเยี่ยมเพื่อนคนนั้นที คนนี้ที เพื่อเพิ่มเรียวแรงในการใช้ชีวิตไปเป็นวันๆ พูดง่ายๆคือ เพื่อสามารถทำงานต่อไปได้ เพราะไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินแล้วจะมีชิวิตต่อไปยังไง...

แต่สำหรับเราก็อาจจะโชดดี ตรงที่ งานที่ทำอยู่มันเอื้อให้สามารถทำแบบนั้นได้ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ต้องขอบคุณระบบอินเตอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์ มันเจริญขึ้นมาจนทำให้เราสามารถทำแบบนี้ได้  ทำงานโดยที่ไม่มีใครรู้ว่า เราอยู่ตรงไหนในประเทศ หรือโลกใบนี้ .....ไปไหนมาไหนได้เองเพราะโตแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องห่วง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า เรากำลังสับสนในชีวิตขั้นรุนแรงมาก ถึงมากที่สุด...

ในที่สุดก็พบคำตอบ ต้องบอกว่า ใจของเรามันตกผลึกเองน่ะ จากการกลั่นจากความคิด ข้อมูลต่างๆทั้งการอ่าน การถามผู้รู้ต่างๆ คำตอบของเราคือ "ชีวิตมันก็คือ การทำงาน คนเราเกิดมาก็เพื่อทำงาน" ซึ่งงานที่ว่าแล้วแต่ว่า แต่ละคนจะบอกว่ามันเป็นยังไง เพราะมันขึ้นอยู่กับวัยแต่ละคน หรือขึ้นอยู่กับการค้นพบตัวเอง วัยเด็ก งานก็คือ การเรียน วันสูงอายุ งานก็คือ งานอดเรก หรือไม่ ก็การดูแลลูกหลาน การทำตัวเป็นศูนย์รวมจิตใจของหลายๆครอบครัว ก็คืองาน...

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า เราต้องใช้ชีวิตกับการทำงานให้เกิดตวามสุขในชีวิตได้อย่างไรต่างหาก ที่มันยาก และต้องคิดให้ดี   ซึ่งมันก็ตรงกับหลักวิทยาสตร์ทางสมองที่ได้บอกไปแล้วว่า สมองชอบความรู้สึกที่มีความสุข มันจะส่งผลไปต่อทุกๆส่วนของร่างกายต่อไป และในช่วงเริ่มต้น งานที่ทำกับสิ่งที่ชอบอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เราจำเป็นต้องตอบสนองหน้าที่และความคาดหวังของคนรอบข้างก่อน แต่หากที่จะไม่ลืมตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ สุดท้ายเราก็จะค้นพบในสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ซึ่งบางครั้งมันก็คือ สิ่งเดียวกับที่เราทำมาตั้งแต่แรกนั้นเอง...


ที่นี้กลับมาในส่วนที่ว่า บทความที่อ่านจากมติชนนี้มันโดนใจยังไง นั่นก็คือ ในบทความก็เขียนคล้ายๆกันว่า " การศึกษาเพื่อตอบสนองการทำงาน มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติบังคับว่าต้องทำงาน"

 ตอนเด็ก เรียกงานว่า "เรียน"

ตอนโต เรียกงานว่า "งาน"

ตอนชรา เรียกงานว่า "งานอดิเรก"

 แล้วเค้ายังเสนอคำสอนของท่านพุทธทาสที่คนส่วนใหญ่นับถือเหมือนกัน ในสิ่งที่ท่านสอนสั่ง "ทำงานคือการปฎิบัติธรรม" ตอกย้ำให้เห็นว่า "ทุกคนต้องทำงาน"

การทำงานคือเป้าหมายในการดำรงชีพ คนที่ทำงานเพื่องาน จะรู้สึกรักงาน อุตสาหะพยายาม ฝึกฝนการทำงานจนเชี่ยวชาญ  ตามหลักอิทธิบาท 4 ถ้าเริ่มที่มี "ฉันทะ"แล้ว... ชีวิตก็ง่ายขึ้นเยอะ มีความสุขขึ้นอีกเยอะ... แต่ถ้ายังไม่รู้ แต่ไปพยายามแก้ที่ปลายเหตุ แต่ไม่เริ่มกับคำถามที่ว่า มี "ฉันทะ"หรือป่าว...ก็คงยากที่จะมีความสุข...

ไม่รู้อ่านมาถึงตรงนี้ จะได้รับข้อมูลที่พยายามสื่อสารบอกหรือเปล่าน่ะ แต่ก็อย่างที่บอกไม่ได้บังคับ แล้วแต่คน แต่สำหรับคนที่ได้รับสารที่พยายามสื่อสาร ก็อยากจะให้ทุกท่าน พยายามสื่อสารต่อ ให้คนที่กำลังสับสน อาจจะเป็นท่านเอง หรือเป็นเด็กวัยเรียน เด็กวันรุ่นที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ถ้ารู้ว่าการมีชีวิตคืออะไร เพื่ออะไร ยิ่ง Get เร็วเท่าไรยิ่งดี  ก็จะรู้ว่า คนเราทุกคนมีหน้าที่ต้องทำอย่างไรกันบ้าง จะได้ไม่ทำให้สังคมไทยเราแย่ลงไปเรื่อยๆ มองไม่เห็นอนาคตเลย รุมตีกัน แอบไปเสพยากัน หนีเที่ยวกลางคืนกัน จะเหลือมั๊ยเนี๊ยอนาคตคนที่หลงใช้ชีวิตเพื่อปัจจุบันเท่านั้น ไม่คิดถึงอนาคต แต่จะรู้มั๊ยว่า อนาคตก็คือผลจากปัจจุบันนั่นเอง

เพราะฉะนั้น หากรู้ว่า มีชีวิตเพื่ออะไร ก็จะทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เหมือนกับ คนเดินทางที่มีแผนที่ รู้ว่ากำลังไปทิศทางไหน และเป้าหมายอยู่ตรงไหนกันแน่

"ขอให้ทุกคนที่ได้อ่าน โชดดีกับการเดินทางในการใช้ชีวิต ชีวิตก็คือการทำงานนะจ้ะ" 

Thursday, January 22, 2015

33 ความสามารถสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จ

ช่วงนี้กำลังเตรียมแผนงานสอนน้องใหม่ที่บริษัท เลยได้มีโอกาสอ่านหนังสือของชาวไต้หวันที่เขียนร่วมกับชาวญี่ปุ่นเรื่อง "33 ความสามารถสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จ" เล่มนี้

ลองเขียนสรุปให้ดูคร่าวๆ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับบางคน...ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด แต่เราน่าจะเลือกจุดเด่นเราได้ ส่วนจุดด้อยเราก็ให้เพื่อที่มีจุดเด่นนั้นๆมาช่วยทำแทน...แล้วเราก็ใช้วิธีแอบซึมซับจากเค้า...ไม่แน่นะ จากที่เป็นจุดด้อย อาจกลายเป็นจุดเด่นเราในอนาคตก็ได้...ใครจะไปรู้...สิ่งใดๆในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงทุกวัน ใช่มั๊ย???

คนเราทุกคนล้วนมีความสามารถไร้ขีดจำกัดซ่อนอยู่ เพียงแต่วันนี้คุณค้นพบความสามารถนั้นแล้วหรือยัง หากคุณยิ่งค้นพบความสามารถตนเองได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น เพลโตเคยกล่าวว่า "มนุษย์มีปัญญาตั้งแต่เกิด จึงหาความรู้ได้ไม่จำกัด" ถ้าพูดแบบสมัยใหม่คือ สมองเราเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่ค้นพบแล้วคือส่วนที่โผล่พ้นน้ำมาเพียง 10 %  ส่วนที่ยังค้นไม่พบคือส่วนที่อยู่ใต้น้ำอีก 90 % จะเห็นได้ว่า คนเรามีศักยภาพมหาศาล เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิดไว้อีกเยอะมาก

ในส่วนที่ผู้เขียน เขียนนี้ เค้าออกตัวไว้ว่า "แม้จะพูดไม่ได้ว่า หากมีความสามารถตามที่เค้าเขียนสรุปในหนังสือเล่มนี้ แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่า คนที่ประสบความสำเร็จล้วนแต่มีความสามารถดังกล่าว"

สาระสำคัญของการค้นหาความสามารถก็คือ การกระตุ้นสติปัญญาที่มีมาตั้งแต่เกิดให้สำแดงพลัง ทำให้มีความรู้หลากหลายและมีความสามารถใหม่ๆ สิ่งที่เรียกว่า "พรสวรรค์" หมายถึงการค้นพบสิ่งที่ตั้งแต่ต้น เราจึงควรพยายามค้นหาศักยภาพของตนเอง เพราะเราทุกคนล้วนมีความสามารถไร้ขีดจำกัด ขอเพียงแต่ค้นพบและฝึกฝนอยู่เสมอ ศักยภาพก็จะปรากฎออกมา และสร้างสรรค์เป็นผลงานได้

หากศักยภาพไม่ได้ถูกค้นพบ หรือไม่ได้แสดงออกมา ความสามารถเหล่านนั้นก็จะถดถอยลง การค้นหาทีหลังก็จะทำได้ยากหรืออาจจะไม่ได้อีกเลย ตามปกติคนเราหลังจากเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว การทำงานของสมองจะลดลง ดังนั้นก่อนอายุ 35 หากเราได้ค้นพบความสามารถยิ่งเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาประสบความสำเร็จได้มากเท่านั้น

หนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วย 3 ตอน และในแต่ละตอน จะแยกเป็นแต่ละความสามารถที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

ตอนที่ 1 ความสามารถของการกระตุ้นศักยภาพ

1 ความสามารถในการเรียนรู้
2 ความสามารถในการอดทน
3 ความสามารถที่จะรัก
4 ความมุ่งมั่น
5 ความสามารถในการหยั่งรู้
6 ความสามารถในการรับฟัง
7 ความสามาถในการสังเกต
8 ปณิธาน
9 ความสามารถในการจินตนาการ
10 ความสามารถในการเข้าใจ
11 ความสามารถในการตัดสิน
12 ความสามารถในการชื่นชม
13 ความสามารถในการเติบโต

ตอนที่ 2 ความสามารถที่เป็นปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จ

14 ความสามารถในการพร้อมรบ
15 ความสามารถในการปฎิบัติงาน
16 ความสามารถทางภาษา
17 ความสามารถในการเจรจา
18 ความสามารถในการประสานงาน
19 ความสามารถในการเป็นผู้นำ
20 ความสามารถในการยืมกำลัง
21 ความสามารถในการคิดทบทวน
22 ความสามารถในการแข่งขัน
23 ความสามารถในการบริหารทรัพยากร

ตอนที่ 3 ความสามารถที่จะเป็นหนทางที่กำหนดชีวิต

24 ความสามารถในการสร้างสรรค์
25 ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
26 ความสามารถในการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น
27 ความสามารถในการบริหารอารมณ์
28 ความสามารถในการเสี่ยง
29 ความสามารถในการริเริ่ม
30 ความสามารถในการปรับตัว
31ความสามารถในการสื่อสาร
32 ความสามารถในการบริหารทรัพย์สิน
33 ความสามารถในการเผชิญอุปสรรค

ถ้าอ่านแล้วสนใจ ลองดูที่ร้านหนังสือ เค้าออกมาเป็นชุด  3 เล่ม แยกเป็นเรื่อง 33 สิ่งที่ควรทำ, 33 ความสามารถ (เล่มนี้) อีกเล่มจำไม่ได้แล้ว ลองดูนะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับบางคน ที่อาจกำลังสับสน อาจกำลังต้องสอนงานคนอื่นแต่ไม่รู้จะทำให้เค้าเห็นภาพ หรือเริ่มต้นอย่างไร หรือรวมถึงคุณแม่ที่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะเตรียมลูกน้อยยังไงต่อไปดี ให้เค้าอยู่ได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต.......ฯลฯ

ลองสังเกตลูกเราว่า เราควรจะปลูกฝังคุณสมบัติหรือความสามารถไหนดี ตอนนี้เค้าอาจไม่รู้...แต่วันหนึ่งเค้าอาจเดินมาขอบคุณเราว่า...ขอบคุณคะแม่ที่ช่วยปลูกคุณสมบัตินี้/ความสามารถนี้บนตัวหนู...เราคงจะได้แต่อมยิ้ม...แล้วคิดว่า ......................... (เว้นช่องให้เติมเอง..งลองจินตนาการคะ!!!)

Sunday, January 4, 2015

ข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการจัดทำ EIA & IEE มีอะไรบ้าง

คำถามที่ว่า: ข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการจัดทำ EIA & IEE มีอะไรบ้าง?????
(ขอเน้นไปทางโครงการประเภทที่พักอาศัยและบริการชุมชน เนื่องจากไม่ค่อยซับซ้อนมากนัก)

เป็นคำถามที่พบบ่อยมากตั้งแต่ทำงานในแวดวงของ EIA & IEE มา ทั้งจากเจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรที่ทำงานเอง โดยเฉพาะน้องใหม่ในวงการ...

ขอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อน ถ้าไม่เข้าใจค่อยมาดูในรายละเอียดในหัวข้อที่ไม่เข้าใจดีกว่า จะได้ไม่เยอะเกิน...ปกติจะถูกถามทันทีว่า "ต้องใช้เยอะขนาดนี้เลยเหรอ?????"

คำตอบคือ "ใช่" ต้องใช้ทั้งหมดนี้ ถึงจะจัดทำรายงานได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นั่นถึงเป็นเหตุว่า ทำไมถึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการรวบรวม เพราะนอกจากจะต้องมาจากหลายแหล่งแล้ว ยังต้องให้สอดคล้องกันด้วย และที่สำคัญคือ ต้องให้ถูกต้องตรงกัน เป็นข้อมูลของโครงการเดียวกันด้วย นั่นละที่ยากมากๆๆๆๆที่ทำให้คนทำรายงาน หรือผู้ประสานงาน ยอมแพ้และเลิกทำงานด้านนี้ไปเลย...
 
 
ข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการจัดทำ EIA & IEE
 
1.สรุปรายละเอียดโครงการ/ Summary of Project Description ได้แก่
  • สรุปขนาดพื้นที่โครงการที่จะยื่นขออนุญาต (บางครั้งขนาดพื้นที่โครงการจะเป็นเพียงบางส่วนของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน หรือบางครั้งต้องมีหลายๆเอกสารสิทธิ์รวมกัน) 
  • จำนวนห้องพัก
  •  
  • จำนวนอาคาร
  • จำนวนพื้นที่ใช้สอยแต่ละอาคารแยกแต่ละชั้นอย่างชัดเจน
  • จำนวนพื้นที่ปกคลุมแต่ละอาคาร รวมทั้งรายละเอียดอืนๆเช่น มีสระว่ายน้ำขนาดเท่าไร กี่สระ มีร้านอาหารขนาดเท่าไร หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆอะไรบ้าง
  • นอกจากนี้ก็จะต้องมีสรุปแนวคิดของการพัฒนาโครงการที่ชัดเจน เพื่อบริษัทที่ปรึกษาจะได้ไม่ต้องนั่งเทียนเขียนให้ ปกติทุกโครงการต้องมีแนวความคิดดีๆอยู่แล้ว เมื่อเอาความจริงมาเขียน การเตรียมหรือจัดทำรายงานกจะไปในทิศทางเดียวกัน)
 
2.แบบแปลนทางด้านสถาปัตยกรรม/ List of Architect Drawing  ได้แก่
  • Master Plan
  • Lay out shown All Land Title Deed
  • Lay out shown All  Building location & Parking
  • Lay out shown All set back
  • Drawing of Elevation & Section of all building
  • Perspective shown before & after development
  • Landscape, with details all kind of tree or plantations, number & area
  • Traffic drawing,  with direction of each usage
 
 
3.แบบแปลนทางด้านวิศวกรรมและรายการคำนวณ/ List of Engineering Work & Calculation Sheet
  • Water supply system: Details of system/ plan/ water tank & Calculation sheet (with engineer license)
  • Waste water treatment system: Details of system & Calculation sheet (with engineer license)
  • Recycle system with details & Calculation sheet (with engineer license)
  • Strom water system : Details of system/ plan/ retention tank & Calculation sheet (with engineer license)
  • Discharge point to public drainage with details
  • Solid waste system: Storage details & location with gathering method
 
4.เอกสารสำคัญบริษัทเจ้าของโครงการและจดหมายยื่นต่อหน่วยงานราชการ/ Company paper of Project Owner & Letter submitted to related authorities
 
5.ความต้องการพิเศษเฉพาะโครงการ/ Special request
 
 

Saturday, January 3, 2015

ทำไมถึงอยากให้มี EIA & IEE Community

มีคนถามว่า ทำไมถึงต้องมี EIA & IEE Community?????

ขอตอบสั้นๆก่อนว่า "จำเป็นมากๆๆๆ สำหรับบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ภูธรเช่นเรา" เนื่องจากทั้งหน่วยงานพิจารณา หน่วยงานที่ควบคุมดูแล ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และแหล่งข้อมูลความรู้ที่ใช้ในการจัดทำรายงาน โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะตั้งอยู่ในส่วนกลาง หรือกรุงเทพมหานคร ในส่วนที่มีการเผยแพร่ทาง Internet ก็จะเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ ในการค้นหาข้อมูลและการนำไปใช้งาน ผู้ค้นหาหรือผู้ใช้ก็ต้องใช้วิจารณญานมากพอสมควร หรือมีความรู้มากในระดับหนึ่ง เพื่อกลั่นกรองข้อมูลที่แสดงทาง Internet ดังนั้นการที่บริษัทที่ปรึกษาตั้งอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ จึงเป็นข้อด้อยประการสำคัญมากๆในการจัดทำรายงาน  
 
ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แต่ละครั้ง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดการพิจารณา เปลี่ยนแปลงรูปแบบตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งปกติจะไม่ได้รับการเผยแพร่ ส่วนใหญ่จะทราบในห้องประชุมจากความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯโดยตรง และจะทราบจากการสอบถามบริษัทที่ปรึกษาอื่นๆที่มาเข้าประชุมในวันเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นก็จะทราบจากการไป review รายงานที่เผยแพร่ในห้องสมุดของสำนักงาน สผ. (www.onep.go.th) และมีบางโอกาสที่มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการที่จะมีการสรุปเผยแพร่แนวทางการจัดทำรายงานเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ซึ่งก็จะเกิดขึ้นนานๆครั้ง เนื่องจาก สผ.เองก็จะต้องรวบรวมแนวการพิจารณา เนื้อหาที่มักผิดไปจากแนวทาง หรือ แนวทางที่ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สำหรับการมีพันธมิตรในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาก็เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ก็จะสามารถแจ้งหรือให้ข้อมูลในระดับจำกัดเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเป็นภาระหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาที่จะต้องพยายามทุกวิถีทางให้มีการ update ข้อมูลในการจัดทำรายงาน รูปแบบในการจัดทำ/นำเสนอ หรือ แนวทางการพิจารณา หรือเรียกกันง่ายๆว่า "Comment" กันเอง
 
ที่นี้ เมื่อบริษัทที่ปรึกษาต้องพยายามเอง นั่นก็หมายถึง บุคลากรของบริษัทที่ปรึกษาต้องเป็นผู้ที่รักการศึกษาค้นคว้า กระตือรือร้นที่จะสอบถาม ชอบเรียนรู้ สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานของตนเองให้สอดคล้องตามแนวทางของการจัดทำรายงานของสผ. และแนวทางของการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้เป็นอย่างดี และนี่เองที่เป็นอีกความลำบากของบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ภูธรเช่นเรา เนื่องจาก การส่งบุคลากรเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูล หรือมาซึมซับบรรยากาศการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการผ้ชำนาญการฯ รวมถึงการให้บุคลากรมีโอกาสพูดคุยพบปะกับบุคลากรของบริษัทที่ปรึกษาของบริษัทอื่นๆก็จะมีน้อยมาก ด้วยเหตุผลทั้ง ความพร้อมของบุคลากรแต่ละคนไม่เท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการนำบุคคลากรมาเข้าร่วมประชุมหรือขึ้นมาศึกษาค้นคว้าในกรุงเทพมหานคร รวมถึงปัจจัยด้านสุขภาพที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับบรรยากาศของเมืองกรุง กว่าจะปรับตัวได้ ก็ถึงเวลาต้องกลับภูธรแล้ว และเท่าที่ประสบมา จะพบว่า มีบุคลากรหลายคนที่ให้เหตุผลในการไม่อยากอยู่กับบริษัทต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่า ทนแรงกดดันในห้องประชุมไม่ได้ ไม่ชอบการมาศึกษาค้นคว้าในกรุงเทพ ไม่ชอบบรรยากาศการเดินทางในกรุงเทพ เป็นต้น จึงกลายเป็นว่า จะศึกษาหาข้อมูลที่ใหม่ๆได้จากทาง Internet เพียงทางเดียว ซึ่งการเผยแพร่รายงานทาง Internet ก็จะทราบดีว่าไม่ update เป็นปัจจุบันซะแล้ว
 
สำหรับอีกช่องทางที่ประสบการณ์สอนว่า ช่วยในการ update รูปแบบการจัดทำรายงานได้เยอะมาก นั้นคือ การที่บุคลากรได้พบปะพูดคุย กับบุคลากรบริษัทอื่นๆ ซึ่งใครมี Comment ใหม่ หรือ แนวทางใหม่ๆก็จะมีการแชร์กัน หรือช่วยกัน และถึงแม้ท่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เอง เมื่ออยู่นอกห้องประชุม แต่ละท่านก็มักจะกรุณาแนะนำแนวทางที่ดี หรือวิธีทางที่ถูกต้องให้โดยไม่สนว่าเป็นบริษัทใด โครงการใด รวมถึงฝ่ายเลขานุการด้วยเช่นกัน ที่ค่อนข้างจะรู้ว่า แนวทางใดที่เหมาะสมในการจัดทำรายงานสำหรับแต่ละโครงการ สำหรับคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แต่ละชุด จึงสามารถช่วยประหยัดเวลา และทรัพยากรต่างๆได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เองก้ได้พิจารณารายงานที่สอดคล้องตามแนวทางการพิจารณาได้เลย ไม่ต้อง Comment เยอะมาก ลดภาระงานไปได้เยอะ
 
และนี่คือเหตุผลสำคัญ หรือคำตอบว่า ทำไมจึงอยากให้มี EIA & IEE Community 
 
ส่วนผลพลอยได้อีกหลายประการ จะค่อยๆสรุปให้เห็นร่วมกัน เพื่อจะได้สามารถจัดตั้ง EIA & IEE Community ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ต่อไป

ความซับซ้อนของการทำรายงาน EIA และ IEE

ปัจจุบัน EIA & IEE เข้ามามีส่วนเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นหนึ่งเลยในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีกฎหมายที่กำหนดประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ไว้อย่างหลากหลาย จึงยากที่เจ้าของโครงการจะลบเลี่ยงได้เช่นในอดีต


และหากไม่จัดทำ ก็จะไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างหรือเปิดดำเนินโครงการได้ต่อไป ทีนี้ ความซับซ้อนของการทำรายงานที่ว่าก็คือ รายงานทั้ง EIA & IEE จะต้องถูกจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการสอบขอขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หรือเป็นที่รู็จักในชื่อ สผ.) ดังนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนก็จัดทำรายงานนี้ได้ และความซับซ้อนถัดมาคือ รายงานจะต้องถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานเพื่อขอรับความเห็นชอบก่อน จึงจะสามารถนำผลการพิจารณาไปใช้เพื่อขอใบอนุญาตหรือเปิดดำเนินการต่อไป


ในส่วนความซับซ้อนของการพิจารณา จะขออนุญาตไม่พูดถึง เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯที่พิจารณาจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเภทของโครงการที่นำเสนอให้พิจารณานั้นๆ ซึ่งจะต้องถกเปลี่ยนแนวทางการพิจารณาไปตามยุคสมัยและวาระ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือสภาพปัญหาของแต่ละวาระนั้นๆ แต่หากจะพูดไปแล้ว ก็จะถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จะเป็นผู้กลั่นกรองรายงาน ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความรู้อย่างมาก จากแต่ละหน่วยงานที่ได้เข้าเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาโครงการเขื่อนแม่วงศ์ หรือโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จะได้รับแรงกดดันจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะแรงกดดันทางด้านสังคม ที่มีบทบาทอย่างมาก แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ก็จะต้องพิจารณาบนพื้นฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อทและตรรกะที่เป็นจริง  จึงทำให้ผลการพิจารณาอาจไม่เป็นที่ถูกใจของหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


ในที่นี้จะขอพูดถึงความซับซ้อนของการจัดทำรายงาน เนื่องจาก การทำรายงานจะต้องถูกจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาก็จริง แต่ในส่วนข้อมูลจะถูกจัดส่งมาให้จากเจ้าของโครงการและบริษัทผู้ออกแบบ ส่วนบริษัทที่ปรึกษามีหน้าที่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการ ข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบัน เพื่อมาทำการวิเคราะห์ผลกระทบ แล้วเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสมนำเสนอให้โครงการพิจารณาเห็นด้วย ก่อนบรรจุเข้าเป็นรายงานฯให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯพิจารณา


โดยความซับซ้อนของการจัดทำรายงานคือ แบบหรือรายละเอียดโครงการ มาจากหลายฝ่ายมาก และส่วนใหญ่จะไม่ได้เตรียมมาในรูปแบบเดียวกัน (ยกเว้น โครงการที่เตรียมการอย่างดี มีการประชุมเพื่อเตรียมการพัฒนาข้อมูลให้บริษัทที่ปรึกษา สามารถกำหนดรูปแบบที่ต้องการให้ทราบพร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก็จะมีการเตรียมมาให้ในรูปแบบที่ต่างกันอยู่ดี เช่น ผังบริเวณโครงการ ไม่เหมือนกัน ตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณไม่เหมือนกัน ก็จะเป็นภาระของบริษัทที่ปรึกษา มาตรวจและแจ้งให้แก้ให้สอดคล้อง ถ้าโชดดี บริษัทผู้ออกแบบก็แก้ให้ตามคำขอเป็นอย่างดี "ขอให้บอก" แต่ถ้าไม่ ก็ต้องรอ รอ รอ ไปเรื่อยๆ หรือให้เจ้าของตามให้ หรือสุดท้าย รอจนไม่ไหว บริษัทที่ปรึกษาก็ต้องแก้เอง เพราะอยากออกเล่ม จะได้เบิกค่างวดได้)


และเมื่อล่าช้า ความกดดันทั้งหมดก็จะมาตกอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา เพราะออกเล่มเพื่อนำเสนอให้พิจารณาไม่ได้ หรือเสนอได้ แต่แบบในแต่ละบทไม่สอดคล้องกัน ก็จะกลายเป็นบริษัทที่ปรึกษาทำงานไม่เรียบร้อย ทำงานไม่ดี  ดังนั้น บริษัทที่ปรึกษาจะต้องเป็นเหมือน "เทพเจ้า" ที่สามารถสั่งทุกอย่างได้ และต้องสามารถทำให้บริษัทออกแบบทำงานให้ตามที่จำเป็นต้องใช้ในการนำเสนอได้ จึงจะสามารถออกเล่มนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาได้ และหากเจ้าของโครงการไม่สนใจ มอบหมายให้คนอื่น โดยเฉพาะบริษัทออกแบบรับผิดชอบอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นความโชดร้ายของบริษัทที่ปรึกษาไปเลย


อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาเอง ถ้าไม่สามารถจัดสรรหรือบริหารทีมงานให้เป็นเทพเจ้าได้ ก็จะถือว่า เป็นบริษัทที่ยังไม่เป็นมืออาชีพ ต้องทำการปรับปรุง เพราะว่า ทีมงานหรือผู้จัดการโครงการ หรือผู้ประสานงาน จะต้องมีความรักในงาน มีความกระตือรือร้น พร้อมที่จะทำงานหนักได้ (งานประสานงานเพื่อให้ได้แบบและข้อมูลสำหรับทำรายงาน EIA & IEE ถือเป็นงานหนักมากๆๆๆๆๆๆๆ เพราะจะพบเจอกับแรงกดดันจากทุกฝ่ายที่เราไปประสานงานด้วย) ต้องมีทั้งความรู้ที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และต้องมีศิลปะในการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน ทุกๆทาง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ


และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นความซับซ้อนระดับเทพเท่านั้น ที่สามารถจะทำได้ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจึงมีน้อยจัง องค์กรใหญ่ก็มีงานล้นมือ ส่วนองค์กรเล็กๆก็ต้องคอยระวัง Job Hunter  ที่จ้องแต่จะมาเล็งพนักงานที่โดดเด่น ทำงานดี หรือมีความพร้อมที่จะทำงาน ที่จะมาเจรจา มอบผลตอบแทนที่หรูหรา หรือสิ่งยั่วยวนเพื่อให้ยอมไปทำงานให้ จะว่าไปแล้ว บริษัทเล็กๆก็จะเป็นเหมือน โรงเรียนฝึกพนักงานให้บริษัทใหญ่ๆหรือองค์กรใหญ่ที่เพียบพร้อมกว่า ซึ่งก็จะว่าใครไม่ได้ เพราะเป็นอนาคตของแต่ละคนที่ควรจะเลือกที่ๆเหมาะสมให้ตนเองได้ ดังนั้น องค์กรเล็กก็ต้องพยายามหาจุดแข้งของตนเองให้โดดเด่น และปรับวิถีการทำงานเพื่อให้บุคลากรรักที่จะทำงานด้วยอยู่เสมอ


จะว่าไปแล้ว เสน่ห์ของการทำรายงาน EIA & IEE ก็คือ การที่เราสามารถใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ทั้งหมดที่เรียนมาในการจัดทำรายงาน และจะต้องเรียนรู้ไม่รู้จบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโครงการ อีกทั้งด้านคนที่เราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ก็จะต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเองอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ การได้สอนหรือผลิตบุคลากรเพื่อทำงานด้านนี้ จะเป็นผู้ที่ได้เรียนรู้ไม่รู้จบเช่นกัน ก็จะเป็นการสร้างคนที่มีความรู้ ความสามารถผลิตออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะยังทำงานในสาขานี้ หรือแยกไปทำงานสาขาอื่นๆ บุคลากรเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีนิสัยของการเรียนรู้ไม่รู้จบเช่นกันต่อไป....ความภูมิใจนี้ ทำให้สามารถผ่านอุปสรรคและปัญหาต่างๆมาได้ และทำให้ทำงานในเส้นทางนี้มาจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมั่นว่า ถึงจะมีความซับซ้อนมากเท่าที่เขียนมาข้างต้น ก็จะยังคงอยู่ในเส้นทางสายอาชีพนี้ต่อไปอีกนาน (อย่างน้อยก็จนกว่า หน่วยงานเค้าจะเปลี่ยนระบบการพิจารณา หรือจัดทำรายงานเป็นแบบอื่นๆที่ เราไม่อาจปรับตัวทันได้อีกต่อไป คงต้องปล่อยให้เป็นคนรุ่นใหม่ทำแทนต่อๆไป)