Saturday, January 3, 2015

ความซับซ้อนของการทำรายงาน EIA และ IEE

ปัจจุบัน EIA & IEE เข้ามามีส่วนเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นหนึ่งเลยในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีกฎหมายที่กำหนดประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ไว้อย่างหลากหลาย จึงยากที่เจ้าของโครงการจะลบเลี่ยงได้เช่นในอดีต


และหากไม่จัดทำ ก็จะไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างหรือเปิดดำเนินโครงการได้ต่อไป ทีนี้ ความซับซ้อนของการทำรายงานที่ว่าก็คือ รายงานทั้ง EIA & IEE จะต้องถูกจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการสอบขอขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หรือเป็นที่รู็จักในชื่อ สผ.) ดังนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนก็จัดทำรายงานนี้ได้ และความซับซ้อนถัดมาคือ รายงานจะต้องถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานเพื่อขอรับความเห็นชอบก่อน จึงจะสามารถนำผลการพิจารณาไปใช้เพื่อขอใบอนุญาตหรือเปิดดำเนินการต่อไป


ในส่วนความซับซ้อนของการพิจารณา จะขออนุญาตไม่พูดถึง เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯที่พิจารณาจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเภทของโครงการที่นำเสนอให้พิจารณานั้นๆ ซึ่งจะต้องถกเปลี่ยนแนวทางการพิจารณาไปตามยุคสมัยและวาระ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือสภาพปัญหาของแต่ละวาระนั้นๆ แต่หากจะพูดไปแล้ว ก็จะถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จะเป็นผู้กลั่นกรองรายงาน ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความรู้อย่างมาก จากแต่ละหน่วยงานที่ได้เข้าเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาโครงการเขื่อนแม่วงศ์ หรือโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จะได้รับแรงกดดันจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะแรงกดดันทางด้านสังคม ที่มีบทบาทอย่างมาก แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ก็จะต้องพิจารณาบนพื้นฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อทและตรรกะที่เป็นจริง  จึงทำให้ผลการพิจารณาอาจไม่เป็นที่ถูกใจของหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


ในที่นี้จะขอพูดถึงความซับซ้อนของการจัดทำรายงาน เนื่องจาก การทำรายงานจะต้องถูกจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาก็จริง แต่ในส่วนข้อมูลจะถูกจัดส่งมาให้จากเจ้าของโครงการและบริษัทผู้ออกแบบ ส่วนบริษัทที่ปรึกษามีหน้าที่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการ ข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบัน เพื่อมาทำการวิเคราะห์ผลกระทบ แล้วเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสมนำเสนอให้โครงการพิจารณาเห็นด้วย ก่อนบรรจุเข้าเป็นรายงานฯให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯพิจารณา


โดยความซับซ้อนของการจัดทำรายงานคือ แบบหรือรายละเอียดโครงการ มาจากหลายฝ่ายมาก และส่วนใหญ่จะไม่ได้เตรียมมาในรูปแบบเดียวกัน (ยกเว้น โครงการที่เตรียมการอย่างดี มีการประชุมเพื่อเตรียมการพัฒนาข้อมูลให้บริษัทที่ปรึกษา สามารถกำหนดรูปแบบที่ต้องการให้ทราบพร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก็จะมีการเตรียมมาให้ในรูปแบบที่ต่างกันอยู่ดี เช่น ผังบริเวณโครงการ ไม่เหมือนกัน ตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณไม่เหมือนกัน ก็จะเป็นภาระของบริษัทที่ปรึกษา มาตรวจและแจ้งให้แก้ให้สอดคล้อง ถ้าโชดดี บริษัทผู้ออกแบบก็แก้ให้ตามคำขอเป็นอย่างดี "ขอให้บอก" แต่ถ้าไม่ ก็ต้องรอ รอ รอ ไปเรื่อยๆ หรือให้เจ้าของตามให้ หรือสุดท้าย รอจนไม่ไหว บริษัทที่ปรึกษาก็ต้องแก้เอง เพราะอยากออกเล่ม จะได้เบิกค่างวดได้)


และเมื่อล่าช้า ความกดดันทั้งหมดก็จะมาตกอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา เพราะออกเล่มเพื่อนำเสนอให้พิจารณาไม่ได้ หรือเสนอได้ แต่แบบในแต่ละบทไม่สอดคล้องกัน ก็จะกลายเป็นบริษัทที่ปรึกษาทำงานไม่เรียบร้อย ทำงานไม่ดี  ดังนั้น บริษัทที่ปรึกษาจะต้องเป็นเหมือน "เทพเจ้า" ที่สามารถสั่งทุกอย่างได้ และต้องสามารถทำให้บริษัทออกแบบทำงานให้ตามที่จำเป็นต้องใช้ในการนำเสนอได้ จึงจะสามารถออกเล่มนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาได้ และหากเจ้าของโครงการไม่สนใจ มอบหมายให้คนอื่น โดยเฉพาะบริษัทออกแบบรับผิดชอบอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นความโชดร้ายของบริษัทที่ปรึกษาไปเลย


อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาเอง ถ้าไม่สามารถจัดสรรหรือบริหารทีมงานให้เป็นเทพเจ้าได้ ก็จะถือว่า เป็นบริษัทที่ยังไม่เป็นมืออาชีพ ต้องทำการปรับปรุง เพราะว่า ทีมงานหรือผู้จัดการโครงการ หรือผู้ประสานงาน จะต้องมีความรักในงาน มีความกระตือรือร้น พร้อมที่จะทำงานหนักได้ (งานประสานงานเพื่อให้ได้แบบและข้อมูลสำหรับทำรายงาน EIA & IEE ถือเป็นงานหนักมากๆๆๆๆๆๆๆ เพราะจะพบเจอกับแรงกดดันจากทุกฝ่ายที่เราไปประสานงานด้วย) ต้องมีทั้งความรู้ที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และต้องมีศิลปะในการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน ทุกๆทาง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ


และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นความซับซ้อนระดับเทพเท่านั้น ที่สามารถจะทำได้ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจึงมีน้อยจัง องค์กรใหญ่ก็มีงานล้นมือ ส่วนองค์กรเล็กๆก็ต้องคอยระวัง Job Hunter  ที่จ้องแต่จะมาเล็งพนักงานที่โดดเด่น ทำงานดี หรือมีความพร้อมที่จะทำงาน ที่จะมาเจรจา มอบผลตอบแทนที่หรูหรา หรือสิ่งยั่วยวนเพื่อให้ยอมไปทำงานให้ จะว่าไปแล้ว บริษัทเล็กๆก็จะเป็นเหมือน โรงเรียนฝึกพนักงานให้บริษัทใหญ่ๆหรือองค์กรใหญ่ที่เพียบพร้อมกว่า ซึ่งก็จะว่าใครไม่ได้ เพราะเป็นอนาคตของแต่ละคนที่ควรจะเลือกที่ๆเหมาะสมให้ตนเองได้ ดังนั้น องค์กรเล็กก็ต้องพยายามหาจุดแข้งของตนเองให้โดดเด่น และปรับวิถีการทำงานเพื่อให้บุคลากรรักที่จะทำงานด้วยอยู่เสมอ


จะว่าไปแล้ว เสน่ห์ของการทำรายงาน EIA & IEE ก็คือ การที่เราสามารถใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ทั้งหมดที่เรียนมาในการจัดทำรายงาน และจะต้องเรียนรู้ไม่รู้จบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโครงการ อีกทั้งด้านคนที่เราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ก็จะต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเองอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ การได้สอนหรือผลิตบุคลากรเพื่อทำงานด้านนี้ จะเป็นผู้ที่ได้เรียนรู้ไม่รู้จบเช่นกัน ก็จะเป็นการสร้างคนที่มีความรู้ ความสามารถผลิตออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะยังทำงานในสาขานี้ หรือแยกไปทำงานสาขาอื่นๆ บุคลากรเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีนิสัยของการเรียนรู้ไม่รู้จบเช่นกันต่อไป....ความภูมิใจนี้ ทำให้สามารถผ่านอุปสรรคและปัญหาต่างๆมาได้ และทำให้ทำงานในเส้นทางนี้มาจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมั่นว่า ถึงจะมีความซับซ้อนมากเท่าที่เขียนมาข้างต้น ก็จะยังคงอยู่ในเส้นทางสายอาชีพนี้ต่อไปอีกนาน (อย่างน้อยก็จนกว่า หน่วยงานเค้าจะเปลี่ยนระบบการพิจารณา หรือจัดทำรายงานเป็นแบบอื่นๆที่ เราไม่อาจปรับตัวทันได้อีกต่อไป คงต้องปล่อยให้เป็นคนรุ่นใหม่ทำแทนต่อๆไป)

No comments:

Post a Comment