Saturday, January 3, 2015

ทำไมถึงอยากให้มี EIA & IEE Community

มีคนถามว่า ทำไมถึงต้องมี EIA & IEE Community?????

ขอตอบสั้นๆก่อนว่า "จำเป็นมากๆๆๆ สำหรับบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ภูธรเช่นเรา" เนื่องจากทั้งหน่วยงานพิจารณา หน่วยงานที่ควบคุมดูแล ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และแหล่งข้อมูลความรู้ที่ใช้ในการจัดทำรายงาน โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะตั้งอยู่ในส่วนกลาง หรือกรุงเทพมหานคร ในส่วนที่มีการเผยแพร่ทาง Internet ก็จะเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ ในการค้นหาข้อมูลและการนำไปใช้งาน ผู้ค้นหาหรือผู้ใช้ก็ต้องใช้วิจารณญานมากพอสมควร หรือมีความรู้มากในระดับหนึ่ง เพื่อกลั่นกรองข้อมูลที่แสดงทาง Internet ดังนั้นการที่บริษัทที่ปรึกษาตั้งอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ จึงเป็นข้อด้อยประการสำคัญมากๆในการจัดทำรายงาน  
 
ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แต่ละครั้ง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดการพิจารณา เปลี่ยนแปลงรูปแบบตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งปกติจะไม่ได้รับการเผยแพร่ ส่วนใหญ่จะทราบในห้องประชุมจากความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯโดยตรง และจะทราบจากการสอบถามบริษัทที่ปรึกษาอื่นๆที่มาเข้าประชุมในวันเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นก็จะทราบจากการไป review รายงานที่เผยแพร่ในห้องสมุดของสำนักงาน สผ. (www.onep.go.th) และมีบางโอกาสที่มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการที่จะมีการสรุปเผยแพร่แนวทางการจัดทำรายงานเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ซึ่งก็จะเกิดขึ้นนานๆครั้ง เนื่องจาก สผ.เองก็จะต้องรวบรวมแนวการพิจารณา เนื้อหาที่มักผิดไปจากแนวทาง หรือ แนวทางที่ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สำหรับการมีพันธมิตรในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาก็เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ก็จะสามารถแจ้งหรือให้ข้อมูลในระดับจำกัดเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเป็นภาระหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาที่จะต้องพยายามทุกวิถีทางให้มีการ update ข้อมูลในการจัดทำรายงาน รูปแบบในการจัดทำ/นำเสนอ หรือ แนวทางการพิจารณา หรือเรียกกันง่ายๆว่า "Comment" กันเอง
 
ที่นี้ เมื่อบริษัทที่ปรึกษาต้องพยายามเอง นั่นก็หมายถึง บุคลากรของบริษัทที่ปรึกษาต้องเป็นผู้ที่รักการศึกษาค้นคว้า กระตือรือร้นที่จะสอบถาม ชอบเรียนรู้ สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานของตนเองให้สอดคล้องตามแนวทางของการจัดทำรายงานของสผ. และแนวทางของการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้เป็นอย่างดี และนี่เองที่เป็นอีกความลำบากของบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ภูธรเช่นเรา เนื่องจาก การส่งบุคลากรเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูล หรือมาซึมซับบรรยากาศการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการผ้ชำนาญการฯ รวมถึงการให้บุคลากรมีโอกาสพูดคุยพบปะกับบุคลากรของบริษัทที่ปรึกษาของบริษัทอื่นๆก็จะมีน้อยมาก ด้วยเหตุผลทั้ง ความพร้อมของบุคลากรแต่ละคนไม่เท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการนำบุคคลากรมาเข้าร่วมประชุมหรือขึ้นมาศึกษาค้นคว้าในกรุงเทพมหานคร รวมถึงปัจจัยด้านสุขภาพที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับบรรยากาศของเมืองกรุง กว่าจะปรับตัวได้ ก็ถึงเวลาต้องกลับภูธรแล้ว และเท่าที่ประสบมา จะพบว่า มีบุคลากรหลายคนที่ให้เหตุผลในการไม่อยากอยู่กับบริษัทต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่า ทนแรงกดดันในห้องประชุมไม่ได้ ไม่ชอบการมาศึกษาค้นคว้าในกรุงเทพ ไม่ชอบบรรยากาศการเดินทางในกรุงเทพ เป็นต้น จึงกลายเป็นว่า จะศึกษาหาข้อมูลที่ใหม่ๆได้จากทาง Internet เพียงทางเดียว ซึ่งการเผยแพร่รายงานทาง Internet ก็จะทราบดีว่าไม่ update เป็นปัจจุบันซะแล้ว
 
สำหรับอีกช่องทางที่ประสบการณ์สอนว่า ช่วยในการ update รูปแบบการจัดทำรายงานได้เยอะมาก นั้นคือ การที่บุคลากรได้พบปะพูดคุย กับบุคลากรบริษัทอื่นๆ ซึ่งใครมี Comment ใหม่ หรือ แนวทางใหม่ๆก็จะมีการแชร์กัน หรือช่วยกัน และถึงแม้ท่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เอง เมื่ออยู่นอกห้องประชุม แต่ละท่านก็มักจะกรุณาแนะนำแนวทางที่ดี หรือวิธีทางที่ถูกต้องให้โดยไม่สนว่าเป็นบริษัทใด โครงการใด รวมถึงฝ่ายเลขานุการด้วยเช่นกัน ที่ค่อนข้างจะรู้ว่า แนวทางใดที่เหมาะสมในการจัดทำรายงานสำหรับแต่ละโครงการ สำหรับคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แต่ละชุด จึงสามารถช่วยประหยัดเวลา และทรัพยากรต่างๆได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เองก้ได้พิจารณารายงานที่สอดคล้องตามแนวทางการพิจารณาได้เลย ไม่ต้อง Comment เยอะมาก ลดภาระงานไปได้เยอะ
 
และนี่คือเหตุผลสำคัญ หรือคำตอบว่า ทำไมจึงอยากให้มี EIA & IEE Community 
 
ส่วนผลพลอยได้อีกหลายประการ จะค่อยๆสรุปให้เห็นร่วมกัน เพื่อจะได้สามารถจัดตั้ง EIA & IEE Community ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ต่อไป

No comments:

Post a Comment